พร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นการพัฒนาบริการรับเงินและโอนเงินรูปแบบใหม่ ด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคาร และสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลเกี่ยวกับระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ แห่งชาติ โดยการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ทำได้ง่ายขึ้น เพียงทราบหมายเลขโทรศัพท์หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับเงิน ก็สามารถโอนเงินได้ทันที ไม่ต้องจำเป็นต้องทราบเลขที่บัญชีธนาคาร
โดยการโอนเงินผ่านระบบ พร้อมเพย์ จะเปิดให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารคล้ายการโอนเงินในรูปแบบดั่งเดิม ได้แก่ช่องทาง Mobile Banking, Internet Banking หรือโอนเงินผ่าน ตู้ ATM ทั้งนี้ การให้บริการพร้อมเพย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทย โดยตั้งแต่วัน ที่ 15 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป ทุกธนาคารที่เข้าร่วมจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าระบบ พร้อมเพย์ อย่างเป็นทางการ และจะเริ่มให้ประชาชนโอนเงินให้กันผ่านระบบ พร้อมเพย์ ในวันที่ 31 ต.ค. 2559 และในอนาคต ภาครัฐจะมีการนำระบบ พร้อมเพย์ ไปใช้กับการคืนเงินภาษีให้ประชาชน เพื่อลดความยุ่งยากในการนำเช็คคืนภาษีไปขึ้นเงินที่ธนาคาร และยังจะมีการนำไปใช้กับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และจ่ายเบี้ยยังชีพผู้พิการอีกด้วย
ข้อควรรู้เกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์
- 1 บัญชีธนาคาร สามารถผูกกับบัตรประชาชนได้เพียง 1 ใบเท่านั้น
- 1 บัญชีธนาคาร สามารถผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้หลายหมายเลข (โดยแต่ละธนาคารจะเป็นผู้กำหนดว่า สามารถผูกได้สูงสุดกี่หมายเลขต่อ 1 บัญชี)
- บัตรประชาชนแต่ละใบ หมายเลขโทรศัพท์แต่ละหมายเลข สามารถผูกกับบัญชีได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น
- ไม่สามารถนำบัตรประชาชน 1 ใบ ไปผูกกับหลายๆ บัญชี
- ไม่สามารถนำ 1 หมายเลขโทรศัพท์ ไปผูกกับหลายๆ บัญชี
- หมายเลขโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน (Prepaid) ที่จะนำมาผูกเข้ากับบัญชีธนาคาร จะต้องเป็นหมายเลขที่ลงทะเบียนกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วยชื่อของเรา แล้วเท่านั้น หมายเลขที่ยังไม่ลงทะเบียนกับเครือข่ายมือถือ จะไม่สามารถผูกเข้ากับบัญชีธนาคารในระบบ พร้อมเพย์
- กรณีเปลี่ยน / ยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ได้ลงทะเบียนผูกบัญชีไว้แล้ว ต้องไปยกเลิก การลงทะเบียนกับธนาคารที่เคยผูกบัญชีไว้โดยเร็ว และถ้าเรายังต้องการใช้บริการ พร้อมเพย์ ก็ให้นำหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ไปลงทะเบียนผูกกับบัญชีธนาคารที่เราต้องการ
ค่าธรรมเนียมของการใช้บริการพร้อมเพย์
- ทำรายการโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม
- ทำรายการโอนเงินมากกว่า 5,000 – 30,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ
- ทำรายการโอนเงินมากกว่า 30,000 – 100,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ
- ทำรายการโอนเงินมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
ทั้งนี้ หลายๆ คนอาจจะกังวลว่าหากทำการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ พร้อมเพย์ จะเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพแอบขโมยเงินจากบัญชี สำหรับเรื่องนี้ ทางธนาคารที่เข้าร่วมระบบ พร้อมเพย์ ได้ออกมาให้ความมั่นใจว่าระบบนี้ไม่ได้เปิดช่องทางให้มิจฉาชีพแต่อย่างใด เพราะยังคงใช้ช่องทางการโอนเงินรูปแบบเดียวกับการโอนเงินแบบเดิม คือการโอนผ่าน Mobile Banking, Internet Banking หรือโอนเงินผ่าน ตู้ ATM ซึ่งช่องทางเหล่านี้มีการรักษาความปลอดภัยด้วยระบบรหัสผ่าน และมีระบบรักษาความปลอดภัยทางไอทีแน่นอน โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของระบบพร้อมเพย์ได้ ที่นี่
ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบ : Aom Muney